top of page
01 : ๔แผ่นดิน’s THE LAST TEN YEARS / กัลปพฤกษ์ 

Reviews by : กัลปพฤกษ์
Facebook : Kalapapruek : Theatre 2022

๔แผ่นดิน’s THE LAST TEN YEARS

กำกับโดย ประดิษฐ ประสาททอง

(รอบ 13 พฤศจิกายน 2565)
 

ละครเรื่องใหม่จากกลุ่มละครอนัตตา ที่ ‘ซื้อ’ ตั้งแต่รู้เจตนาว่าตั้งใจจะ parody วรรณกรรมอมตะขึ้นหิ้งเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ (๒๔๙๖) ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่เปลี่ยนมาเล่าผ่านตัวละคร ‘มาดามเพ็ชช์’ ในวัยชราที่สังขารอนุญาตให้มีอายุอยู่ได้อีกสิบปี เธอจึงใช้ช่วงเวลานี้ในการย้อนทวนหวนคลื่นกระแสธารระลึกถึงเรื่องราวและประสบการณ์ในอดีตตลอดช่วงสี่รัชสมัย ถอยหลังไปอ่านบางหน้าประวัติศาสตร์ที่บางคนอยากจะกดปุ่ม SHIFT+Delete ให้อันตรธานหายไป หากมันเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ของ มาดามเพ็ชช์ ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วิปโยคเหล่านั้นโดยตรง ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงภาวะและเหตุการณ์ร่วมสมัย ที่ช่างน่าตกใจว่าประเทศไทยเคยผ่านประดาความเลวร้ายไร้มนุษยธรรมจากจิตใจอันตกต่ำได้ถึงเพียงนั้นเลยหรือ?
 

แม้จะถือว่าเป็นงานแนว period แต่การกำกับอันมีรสนิยมของ ประดิษฐ ประสาททอง ก็ไม่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดในละครเรื่องนี้มีความ ‘เชย’ เลยแม้สักนิด เพราะสิ่งที่สะท้อนคือความนึกคิดย้อนครวญไปถึงรากเหง้าอันดำมืดของตนผ่านสายตาของคนร่วมสมัยที่ไม่ได้ตกยุค ปลุกกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาศึกษาสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้บ้างอย่างไม่ชี้นำ แค่ทำให้เห็นในสิ่งที่ผู้มีอำนาจประกาศสั่งให้เอาใบบัวมาปิดไว้ ลีลาการกระแนะกระแหนจิกกัดจึงทำให้ดูแล้วต้องหัวเราะไป สลับกับนิ่งอึ้งตะลึงกันไป เผยความจริงทุกอย่างออกมาอย่างหน้าตาย ซึ่งก็ทำให้ละครมีความแสบร้ายชวนให้เจ็บปวดได้จนจุกกันเลยทีเดียว
 

นักแสดงทั้ง team คือฝีมือจัดจ้านแพรวพราวสุกสกาวส่องบรรเจิดกันทั้งนั้น และทุกคนก็เล่นในแบบเสริมกันไม่มาแข่งกัน สร้างภาพรวมทางการแสดงที่แข็งแกร่ง แม้ว่าด้านฝ่ายหญิงทั้ง ดวงใจ หิรัญศรี , ฟาริดา จิราพันธ์ และนักแสดงรับเชิญ ปานรัตน กริชชาญชัย จะยังให้เค้ารอยทางการแสดงตามลีลาถนัดของแต่ละคนจนเห็นความ ‘ช้ำ’ เอ๊ย! ไม่ใช่ ‘ซ้ำ’ กับการแสดงในเรื่องก่อน ๆ ที่แต่ละคนเคยได้รับ แต่มองในมุมกลับกัน ทุกบทบาทที่นักแสดงทั้งสามเลือกก็ไม่ได้ไปขัดขวางหรือบ่ายเบี่ยงเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดตามที่บทต้องการแต่อย่างใด เล่นตามแนวถนัดแล้วมันยังไง หากผลลัพธ์มันยังรับใช้เนื้อหาอย่างไร้ที่ติได้ ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นฝ่ายหุบปากไม่คิดวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่อทันที ในขณะที่ฝ่ายชายทั้ง ประดิษฐ ประสาททอง เอง และ ธงชัย พิมาพันธ์ศรี ต่างก็ฝีมือดีและพร้อมที่จะเลื่อนไหลต้อนรับสีสันตัวละครแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนได้เจออะไรที่แปลกออกไปทุกครั้งเวลาเห็นพวกเขาสร้างตัวละครแบบใหม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การแสดงของนักแสดงกลุ่มสามัคคีทั้ง ๕ ราย ก็ยังอยู่ในระดับน่าประทับใจ ขนาดตอนที่ ‘คุณยาย’ โผล่ออกมาแสดงแล้วเหมือนมีอะไรยึก ๆ ยัก ๆ สะดุดกึกกักผิด cue กันแบบเล็ก ๆ ทุกคนก็ยังปล่อยไหลไปได้ เหมือนไม่มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น
 

ที่จะผิดหวังอยู่จุดเดียวคือ โดย scope อันทะเยอทะยานของตัวเรื่องแล้ว จะมาเล่าเรื่องราวในทั้ง ๔ แผ่นดินs ให้จบภายในหนึ่งชั่วโมงแบบนี้ไม่ได้ ละครเรื่องนี้ควรได้รับการขยายรายละเอียดอย่างน้อย ๆ ก็ให้ได้สัก ๔ ชั่วโมง หรือจะทำเป็นละครเล่นสดแบ่งเป็นตอน ๆ แข่งกับละครหลังข่าวนัดกันมาดูทุกคืนวันจันทร์-พฤหัสบดี ตียาวไปหลาย ๆ เดือน ก็เชื่อว่าจะสามารถหาวัตถุดิบจากประวัติศาสตร์เรื่องราวมาเล่ามา parody ได้อีกไม่รู้จบ หวังว่าจะได้พบกับ ‘มาดามเพ็ชช์’ ในแบบ Grand International อีกสักครั้ง เพราะที่ตั้งสำรับไว้คราวนี้มันยังไม่พอให้ได้อิ่มเลย

#๔แผ่นดินs

02 : การคิดใหม่ ทำใหม่ โดยใช้แค่โครง เพื่อสื่อสาร/ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

Reviews by : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง

Facebook : ชีวิตผมก็เหมือนหนัง


๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years (2022)

ชอบที่มันไม่ใช่การเอา “สี่แผ่นดิน” มาตัดแต่งดัดแปลงปรับโน่นเปลี่ยนนี่เฉยๆ แต่มันมีการคิดใหม่ทำใหม่ หรือสร้างสิ่งใหม่โดยใช้แค่โครง (และภาพจำ) ของสี่แผ่นดินมาเป็นเครื่องมือ เพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างเพียงเท่านั้น แล้วในคำถามที่ใครหลายคนเคยถามว่า นี่ถ้า “แม่พลอย” ตัวละครหลักของสี่แผ่นดิน มีอายุยืนยาวมาจนถึงห้าแผ่นดิน หกแผ่นดิน จะเป็นเช่นไร ละครเรื่องนี้ก็ชวนเราคิดต่อไปอีกว่า แล้วถ้ามีใครสักคนที่มีอายุยืนยาวและได้มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งส่งผลกระทบจนถึงวันนี้ด้วยเล่า ใครคนนั้นจะมีความคิดความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองต่อบ้านเมืองไทยเช่นไร

.

“มาดามเพ็ชช์” ผู้ลืมตาดูโลกริมคลองโอ่งอ่างในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2475 และมีชีวิตยืนยาวมาถึงสี่แผ่นดิน กำลังใช้เวลาช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต หลังจากเจ็บออดๆ แอดๆ มานาน ด้วยการวางแผนออกเดินทางล่องแม่น้ำแล้วย้อนกลับไปดูชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองที่ผ่านอะไรมามากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีนั้น ที่ทำให้เธอแตกสลายและมองสมาชิกในครอบครัวด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เธอจะได้พบเจอกับเพื่อนรักผู้สวมฮิญาบ, รักแรกฝังใจสมัยยังสาว, อดีตสามีมือเปื้อนเลือดที่เธอเกลียดนักหนา, ลูกชายผู้สาบสูญ และญาติฝ่ายแม่ที่โผล่มานั่งคุยอย่างออกรสออกชาติ

.

ถึง “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” จะถูกนำเสนอด้วยลีลาคอมเมดี้จัดๆ จนคนดูหัวเราะกันดังลั่นเกือบตลอดเวลา 50 นาทีของการแสดง แต่ฉากหลัง สิ่งที่ตัวละครพูดคุย และประเด็นของเรื่องกลับหนักอึ้ง แต่ละฉากที่ตัวละครเผชิญหน้ากัน เต็มไปด้วยการปะทะของขั้วความคิดที่แตกต่าง การสะสางกางบาดแผลและชำระมัน แล้วก็ชอบมากๆ ด้วยที่ “พี่ตั้ว - ประดิษฐ ประสาททอง” หาทางลงให้กับตัวละครแต่ละคู่ได้ดีมาก มันมีกราฟ น้ำหนัก และทีท่าไม่ซ้ำกันเลย มันไม่ใช่แค่การปะทะ-เดินหนี-วนกลับ-คลี่คลาย ซ้ำไปซ้ำมา แต่มันมีเรื่องที่จะสื่อสารและทีท่าต่างกันไปในแต่ละฉาก 

.

“ดวงใจ หิรัญศรี” รับบทมาดามเพ็ชช์ได้ไร้ที่ติ ช่างทรงพลัง มีสีสัน และมีมิติเหลือเกิน การเดินทางข้ามเวลาของตัวละครถูกดีไซน์ผ่านการเคลื่อนไหว น้ำเสียง ทัศนคติของตัวละครในแต่ละช่วงวัยถูกถ่ายทอดออกมาได้ดีงาม และต้องไม่ลืมว่าเธอไม่มีโอกาสเดินเข้าหลังฉากเพื่อหยุดพักอะไรเลยนะ!, “ฟาริดา จิราพันธ์” ในบทเพื่อนรักนาม “ริชชา” (ที่แปลว่าขนนก) นอกจากสีสันที่คาดหวังได้เสมอแล้ว การผสานมวลคอมเมดี้ให้เข้ากับดราม่าหนักๆ ของตัวละครนั้นทำได้ดีมาก, “พี่ตั้ว - ประดิษฐ์ ประสาททอง” ถึงจะรู้อยู่แล้วว่าเค้าคนนี้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับตัวละครได้หลากหลายแบบ แต่มันก็น่าตื่นเต้นเสมอ เมื่อเห็นเค้าต้องเป็นทั้งตัวละครคุณพ่ออารมณ์ดีแสนผ่อนคลาย และตัวละครนายพลผู้เป็นสามีของมาดามเพ็ชช์ที่แสนเย็นชา ในละครเรื่องเดียวกัน, “ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี” เราเคยเห็นการแสดงของเค้าในหลากหลายบทบาทมาแล้ว แต่สำหรับเรื่องนี้ โอ้โห นับไม่ไหวเลยว่าเค้าต้องเล่นกี่บทบาท มันช่างเป็นการแสดงที่ดูสนุกเหลือเกิน และนักแสดงรับเชิญ (ในรอบที่เราได้ดู) อย่าง “พี่เบีย - มนทกานติ รังสิพราหมณกุล” ก็มาแบบน้อยๆ แต่มาเต็ม!

.

เอาเข้าจริง สิ่งที่ทำให้เราสั่นสะเทือนกับละครเรื่องนี้มากขึ้น ก็คือภาพวิดีโอที่เคลื่อนไหวฉายอยู่ที่ฉากหลังในแต่ละพาร์ต(ทั้งหมดเป็นผลงานของ “ธัญสก พันสิทธิวรกุล”) พอมันประสานกับสิ่งที่ตัวละครกำลังสื่อสารอยู่ด้านหน้า มันก็ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้เรามีอาการขอบตาร้อนผ่าวๆ น้ำตาพาลจะไหลซะให้ได้ ยังดีที่ละครยังปรานีปรับโหมดคอมเมดี้มาให้เราได้เปลี่ยนจุดสนใจได้เสมอ ก็เลยรอดตัวจากการนั่งน้ำตาอาบในโรงละครมาได้

.

พี่ตั้วบอกเอาไว้ว่า “๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” เป็นเสมือนบันทึกความทรงจำตลอด 90 ปีของการอภิวัฒน์สยาม (2475-2565) บวกกับแรงบันดาลใจจากภาพยนต์ The Last Ten Years ซึ่งตั้งใจจะหมายถึง อีก 10 ปีเราจะครบ 100 ปีประชาธิปไตย พอเป็นแบบนี้เราเลยไม่รู้ว่าจะคาดหวังให้มีเวอร์ชั่นเต็มที่ยาวกว่านี้ไหม และถ้ามีจริง ควรจะทำการแสดงเมื่อไหร่ดี หรือต้องรอวาระสำคัญไหนอีก 

.

“๔ แผ่นดินs : The Last Ten Years” เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพ 2022 

03 : เดินทางครั้งสุดท้ายแบบเซอร์เรียล / เส้นทางสายไหม

Reviews by : ชญามีน

Facebook : เส้นทางสายไหม - The Embroidery’s Journey

 

แม่เพชร ผู้อยู่มา ๔แผ่นดินส์ พาเราเหล่าคนดูออกเดินทางครั้งสุดท้ายแบบเซอร์เรียลสุด ๆ แต่แปลกที่ความเหนือจริงกลับกระชากเรากลับมาอยู่ในความจริงที่เราพูดถึงมันไม่ได้ตรง ๆ แต่เรื่องราวกลับบอกเราโต้ง ๆ พร้อมกับนำพาเราไปเคว้งอยู่กลางคลื่น แล้วปล่อยให้เราลอยละล่องไปกับความรู้สึก ขบขัน โศกเศร้า คับแค้น ปะปนระคนกัน จากนั้นตลบกลับเราอีกทีด้วยคำถาม แล้วก็ทิ้งเราให้ดิ่งจมกับความรู้สึกบางอย่างที่สลัดทิ้งไม่ได้
 

#๔แผ่นดินS : The Last Ten Years

ละครเวทีใน #เทศกาลละครกรุงเทพ Bangkok Theatre Festival จากกลุ่มละครอนัตตา Anatta Theatre Troupe ที่แปะป้ายคำโปรยว่า ละครเรื่องนี้คือ “ละครบันทึกความทรงจำตลอด 90 ปีอภิวัฒน์สยาม ร่วมฉลอง ‘10 ปี อนัตตา’ และ ‘20 ปี เทศกาลละครกรุงเทพ’ “ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เราอยากดูและคาดหวัง
 

ตลอดเวลาชั่วโมงเศษ งานระดับชั้นครู มีแต่อะไรที่เกินคาด เสียงหัวเราะดังขึ้นเป็นระยะ บางครั้งมีอุทานเบา ๆ ลอยมาให้ได้ยิน ยิ่งดูมีแต่คำว่า พีค พีคคค พีคคคคค ผุดพรายขึ้นมาเต็มไปหมด

เรื่อง-ฉลาดเล่า ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวคุณมาดามเพชรที่ parody กับภาพเปิดของแม่พลอยจากละครเวที 4 แผ่นดินมิวสิคัล ก่อนที่จะเผยตัวละคร ลูก หลาน มิตรสหาย บุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในชีวิตของคุณเพ็ชช์ได้อย่างน่าตื่นใจ 
 

ละครไม่ได้สักแต่จะล้อเลียนวรรณกรรมและการเมืองอย่างตื้นเขิน แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ มิติของตัวละครก็ยิ่งซับซ้อนและซ้อนทับกับเรื่องราวประวัติศาสตร์มากขึ้นตามลำดับ เมื่อเรื่องยิ่งดำเนินไป ก็เผยให้เห็นปูมหลังของตัวละคร ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ทั้งในบริบทของตัวละครเอง และบริบทของตัวละครกับประวัติศาสตร์ที่ผู้คนรับรู้ รวมถึงบริบทของตัวละครกับผู้ชม
 

การลำดับเวลาที่มีการเล่าตัดสลับไปมาในช่วงเวลา 4 แผ่นดิน นับตั้งแต่สมัย ร. 7 จนถึงแผ่นดินปัจจุบัน ถูกทำให้เข้าใจง่าย ด้วยภาพเคลื่อนไหวจากเหตุบ้านการเมืองต่าง ๆ ที่ฉายเป็นฉากหลัง แต่ถึงเป็นฟุตเตจจากภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มันก็ไม่ได้ถูกนำเสนอทื่อ ๆ แต่ถูกลำดับภาพใหม่ ใส่ลูกเล่นอย่างมีชั้นเชิง และกระตุ้นการเชื่อมโยงข้อมูลความจริงกับภาพในโลกจำลองที่เรากำลังได้ชมอยู่ สะท้อนกลับไปกลับมาก่อนที่ทั้งหมดจะสะท้อนมาตีแสกหน้าเราแรง ๆ อีกทีหนึ่ง

ด้วยพลังงานอันทรงพลังและประสบการณ์การแสดงของ ดวงใจ หิรัญศรี, ฟารีดา จิราพันธ์ุ, ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี, ประดิษฐ ประสาททอง และนักแสดงรับเชิญ* คือ นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ ทำให้ทุกคำพูดและการกระทำของตัวละครเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย อารมณ์ที่แสดง สามารถถ่ายทอดมาถึงผู้ชมชนิดที่ว่าพุ่งตรงกระแทกใจ 
 

ถ้าอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกมาจนถึงตอนนี้จะมีชุดคำประมาณว่า “กระชาก”, “ตีแสกหน้า”, “กระแทกใจ” และอะไรหลายคำซึ่งเป็นคำที่ดูรุนแรงต่อความรู้สึก … คือ ถ้าจะให้พูด(เขียน)ตามความจริง ละครมันทำงานกับเราแบบนั้นจริง ๆ บางช่วงบางตอนรู้สึกหัวใจมันกรีดร้องแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ไปกว่าคร่ำครวญในใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลละครทำให้เกิดสิ่งนี้ด้วยท่าทีละมุนละไม เล่าแบบค่อย ๆ เล่า ไม่ยัดเยียด ไม่บีบคั้น ไม่มากไม่น้อยเกินไป เป็นความพอดีพอเหมาะพอเจาะแบบอนัตตา และแน่นอนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ของ ลุงตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธร ผู้เขียนบทและกำกับการแสดง
 

ทันทีที่ดูจบ มีสิ่งที่คาดหวัง อยู่ 2 อย่างด้วยกัน

หนึ่ง คือ อยากชมละคร #๔แผ่นดินs ในเวอร์ชันยาวกว่านี้อีก เชื่อมั่นว่า อนัตตาต้องพาเราไปได้ไกลและสุดกว่านี้แน่นอน 
 

สอง คือ อยากให้สิ่งที่มาดามเพชรพูดกับแม่พลอยว่า “ถึงหนูจะไม่เก็ตคุณยายเท่าไหร่ แต่มันก็ควรจะต้องมีที่สำหรับทุกคน” เป็นจริง 
 

มันคงจะดีกว่านี้มาก ถ้า ‘ที่นี่’ มีที่ทางให้ทุกคน อยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องมีใคร ‘หาย’ ไปไหน 
 

ซึ่งมันก็อาจจะเป็นจริงในสักวัน
 

จนกว่าจะถึงวันนั้น
 

ด้วยรักและเป็นห่วงเป็นใยนะคะ

ชญามีน

04 : “คือผู้อภิวัฒน์” มีทายาทเเล้ว / อ.เจตนา นาควัชระ

Reviews by : อ.เจตนา นาควัชระ

Facebook : Chetana Nagavajara

 

“คือผู้อภิวัฒน์” มีทายาทเเล้ว

32 ปีไม่นานเกินรอ  “๔ เเผ่นดินs” เป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งของวงการละครร่วมสมัยของไทย เพราะเป็นงานที่ปลุกสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้งมากเช่นเดียวกับ “คือผู้อภิวัฒน์” น่าสังเกตว่าละครทั้งสองเรื่องดูจะ “รื้อสร้าง” นิยายยอดนิยมกันคนละเเบบ เรื่องเเรกตั้งคำถามที่ว่าด้วยความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรา “พูดไม่ออก บอกไม่ได้” “๔ เเผ่นดินs” ชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ประวัติศาสตร์กำหนดวิถีชีวิตของเรา หรือว่าเราในฐานะบุคคลสามารถกำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ได้”
 

ผมต้องยอมสารภาพว่า การเเสดงที่เพิ่งจบไปเมื่อคำ่นี้ทำให้ผมต้องกุมขมับกลับมาบ้าน  ก่อนอื่น ต้องขอเตือนว่า “หนังตัวอย่าง” ที่เเนบมานี้ชวนให้เขวอย่างเเน่นอน ความจริงละครเรื่องใหม่นี่ “นิ่ง” เสียจน “นิ้ง” เพราะมันเป็นความนิ่งเชิงปรัชญาที่มาจากความสำนึกของเราท่านที่การเเสดงปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้ 

มันเป็นการสนทนากันใน 3 ระดับ ในระดับของบุคคล ในระดับของประวัติศาสตร์ เเละในระดับของปรัชญา  โยงไปโยงมา ข้ามไปข้ามมาอย่างน่าตื่นเต้น

 

หลังการเเสดงผมรีบเข้าไปหาคุณประดิษฐ ประสาททอง เพื่อขอให้ส่งบทให้ผมอ่าน เพราะกลัวว่าจะตีความผิด  

“อนัตตา” เดินทางมาไกลมากในการสร้างละครที่สมบูรณ์แบบ (well-made play)
บทละคร “คือผู้อภิวัฒน์” ตีพิมพ์หลายครั้งเเล้ว เเละมีการนำไปเเปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย
ผมอยากจะเห็น “๔ เเผ่นดินs” เดินไปในทิศทางเดียวกัน

 

ยังมีประเด็นที่จะอภิปรายได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องตัวบท วิธีการนำเสนอ เเละการตีบทของนักแสดง ผู้สูงอายุขอเวลาคิดสักพัก

bottom of page